การศึกษาโดยใช้ประสาทสัมผัส

                ประสาทสัมผัส เป็นสิ่งที่ใช้สำรวจโลกและเปิดประตูสู่ความรู้ เป็นสิ่งที่เด็กใช้สำรวจโลกและทำให้ได้รู้ถึงรายละเอียดต่างๆของโลกมากยิ่งขึ้น  The Absorbent Mind หน้า 167 บทที่ 17
                มอนเตสซอรีได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของ Edward Seguin  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำงานกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และได้พัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อช่วยฝึกระบบประสาทสัมผัสเพื่อช่วยให้เกิดทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับเด็กเหล่านั้น
                Edward เองก็รู้สึกได้ว่าการศึกษาในสมัยนั้น มิได้ใส่ใจต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กเป็นรายบุคคล โดยเขาได้ระบุไว้ในงานเขียนของเขาว่า “การให้ความเคารพในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน เป็นบททดสอบแรกสำหรับครู” และยังเปรียบเทียบสิ่งนี้ว่า “การศึกษาที่เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งหมด ถือเป็นการทารุณกรรม”
                และมอนเตสซอรียังรู้จักงานของ Rousseau และ Pestalozzi ซึ่งบุคคลทั้งสองเน้นในเรื่องการให้ความสำคัญกับการฝึกระบบประสาทสัมผัส ได้ทำงานกับเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มาก่อน และได้เห็นแล้วว่าวิธีการฝึกระบบประสาทสัมผัสนั้นมีประสิทธิภาพและให้ผลดีเพียงใด  จึงได้นำแนวคิดนี้มาใช้กับเด็กปกติเพื่อศึกษาผลที่ได้รับว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
                ด้วยพื้นฐานความรู้จากรูปแบบของสื่ออุปกรณ์ที่มีจุดประสงค์เดียวกันนี้ บวกกับการสังเกตเด็กในความดูแลของตน ทำให้ค่อยๆพัฒนาชุดอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ศึกษาจากกิจกรรมที่เด็กชอบทำโดยธรรมชาติก่อน แล้วจึงนำแนวทางเหล่านั้นมาพัฒนา
                มอนเตสซอรีเห็นว่าความมีระเบียบวินัย ความเที่ยงตรง การแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตนเอง เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาของเด็ก เมื่อเธอเห็นว่าเด็กสนใจกิจกรรมด้านใดเป็นพิเศษ  ก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ที่จะส่งเสริมพัฒนาการและความสนใจด้านนั้นๆ

            มอนเตสซอรีจะพิจารณาสัมผัสแต่ละด้านอย่างละเอียด และมีแนวคิดว่าการที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถของเด็กที่อยู่ในความดูแลให้เด่นชัดขึ้นโดยวิธีการแยกแยะคุณสมบัติต่างๆของสื่อแต่ละชิ้น แล้วจัดสื่อเหล่านั้นออกเป็นกลุ่มๆตามคุณสมบัติที่มี ทำให้เธอสามารถช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสในแต่ละด้านได้มากขึ้น

                สื่ออุปกรณ์พัฒนาประสาทสัมผัสนั้น ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มๆตามคุณสมบัติในการพัฒนาประสาทรับรู้แต่ละด้าน เช่น สี รูปทรง ขนาด เสียง ผิวสัมผัส น้ำหนัก อุณหภูมิ เป็นต้น
                อุปกรณ์แต่ละชิ้นในกลุ่มเดียวกันจะมีคุณสมบัติที่เหมือนกัน  แต่ต่างกันที่ระดับความยากง่าย แต่หากเป็นอุปกรณ์ที่เน้นเกี่ยวกับการเรียงลำดับและความต่อเนื่องที่ชัดเจน อุปกรณ์ชิ้นนั้นจะมีวัตถุประสงค์ทางคณิตศาสตร์
                ชุดอุปกรณ์ในแต่ละกลุ่มจะมีการจัดลำดับความยากง่าย โดยดูจากวิธีการใช้และการสังเกตจากการใช้ของเด็ก
                วัตถุประสงค์ของอุปกรณ์การเรียนรู้การสัมผัส มิได้ทำขึ้นเพื่อให้เด็กเกิดความประทับใจ (ขนาด รูปร่าง สี ฯลฯ) แต่เพื่อทำให้เด็กเกิดความมีระเบียบวินัย ซึ่งเด็กอาจมีอยู่แล้ว และจะได้รับต่อไปเรื่อยๆ

 วัตถุประสงค์ และหลักการในการสอน

                1. อุปกรณ์เกี่ยวกับการสัมผัส เป็นสื่อที่ทำให้เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับประสาทสัมผัสที่ได้รับการออกแบบเพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน และได้รับรู้สิ่งต่างๆผ่านประสบการณ์จริง
                2. เด็กจะต้องเริ่มจากการปฏิบัติกิจกรรมขั้นแรกให้สำเร็จก่อน แล้วจึงค่อยๆปฏิบัติกิจกรรมที่ยากขึ้นตามลำดับ
                3. อุปกรณ์ชุดหนึ่งๆควรมีจุดประสงค์ในการพัฒนาประสาทสัมผัสด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพื่อความชัดเจน และเน้นทักษะแต่ละด้าน
                4. หากเป็นไปได้ วัสดุอุปกรณ์ควรมีลักษณะที่มีกลไกควบคุมความผิดพลาดในตัว เพื่อให้เด็กได้สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้ด้วยตนเอง และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการที่มีผู้อื่นเป็นผู้สอน

                5. บทบาทของครูจะขึ้นอยู่กับรูปแบบและวิธีการนำเสนอของอุปกรณ์นั้นๆ ครูควรแนะนำอุปกรณ์เหล่านั้นให้เด็กก่อนแล้วค่อยๆถอนตัวออกมา เพื่อปล่อยให้เด็กเรียนรู้กับอุปกรณ์นั้นด้วยตนเอง โดยครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด นั่นคือการให้เด็กได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงนั่นเอง

                6. เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีระดับพัฒนาการที่แตกต่างกัน จึงควรให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติเป็นรายบุคคล

                7. ชุดอุปกรณ์และกิจกรรมได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เด็กสามารถทำงานได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
                8. รูปแบบของอุปกรณ์และวิธีการใช้ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างมีจุดประสงค์ ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ
                9. การกำหนดรูปแบบอุปกรณ์และวิธีการนำเสนออุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งเสริมให้เด็กเป็นคนมีระเบียบวินัย โดยเด็กจะได้รับการแนะนำอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของตน ซึ่งทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมจนครบวงจรตามที่ได้รับการแนะนำจนจบขั้นตอนได้ด้วยตัวเอง และเมื่อทำสำเร็จเด็กจะเกิดความพึงพอใจ ซึ่งเป็นเสมือนรางวัลสำหรับเด็ก ทำให้เด็กเกิดความต้องการทำกิจกรรมนั้นๆ อีกครั้ง และหากเป็นดังนี้ เด็กก็จะเกิดระเบียบวินัยในตนเองในอันที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จ
                10. อุปกรณ์บางชนิด ช่วยพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ และบางชนิดก็ช่วยเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อสำหรับกิจกรรมขั้นอื่นๆต่อไปในอนาคต
                11. เด็กจะได้รับการสอนคำศัพท์เฉพาะทางใหม่ๆ จากทุกๆกิจกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับพร้อมกับทักษะด้านต่างๆซึ่งทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านศัพท์มากยิ่งขึ้น
                12. อุปกรณ์หลายชิ้น จะทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ความรู้ในด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และดนตรี ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

อุปกรณ์ที่ใช้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับด้านสัมผัส- List of Sensorial Apparatus

  • ทรงกระบอกมีจุก - Knobbed Cylinders
  • หอคอยสีชมพู - Pink Tower
  • บันไดสีน้ำตาล - Broad Stairs
  • แขนงไม้สีแดง - Long Rods
  • ทรงกระบอกไร้จุก - Knob-less  Cylinders
  • กล่องสีที่ 1 - Colour box 1
  • กล่องสีที่ 2 - Colour box 2
  • กล่องสีที่ 3 - Colour box 3
  • ถาดแนะนำรูปทรง - Geometric Presentation Tray
  • ลิ้นชักรูปทรง - Geometric Cabinet
  • สามเหลี่ยมรูปทรง - Constructive Triangles
  • กล่องลูกบาศก์ไบนอเมียว - Binomial Cube
  • กล่องลูกบาศก์ไตรนอเมียว - Trinomial Cube
  • แท่งรูปทรงเรขาคณิตทึบ - Geometric Solids
  • การใช้ผ้าปิดตา - Using a Blindfold
  • แผ่นสัมผัสหยาบและเรียบ - Touch Boards
  • จับคู่แผ่นสัมผัส - Touch Tablets
  • แผ่นสัมผัสอุณหภูมิ - Thermic Tablets
  • แผ่นผ้าสัมผัส - Touch Fabrics
  • กิจกรรมแยกประสาทสัมผัส - Stereognostic Exercises
  • แผ่นไม้ประมาณน้ำหนัก - Baric Tablets
  • กล่องเสียง -Sound Boxes
  • ขวดสำรวจกลิ่น - Smell Bottles
  • ขวดสำรวจรสชาติ - Gustatory Bottles